โรคภูมิแพ้
สุขภาพ
โรคภูมิแพ้ ภาษาอังกฤษเรียกว่า allergy เป็นอาการที่พบได้บ่อย ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุุ้มกันของร่างกาย แม้หลาย ๆ คนคิดว่าโรคนี้สามารถบรรเทาได้ด้วยการใช้ยา แต่จริง ๆ แล้วไม่ควรมองข้ามโรคภูมิแพ้เด็ดขาด เพราะความรุนแรงมีตั้งแต่เบาบางไปจนถึงขั้นร้ายแรงและทำให้เสียชีวิตได้ มาทำความรู้จักกับโรคภูมิแพ้ให้มากขึ้นว่า โรคภูมิแพ้ มีสาเหตุมาจากอะไร อาการและวิธีรักษามีอย่างไรบ้าง รวมทั้งวิธีการป้องกันไม่ให้เกิดโรคภูมิแพ้ต้องทำอย่างไร เพื่อที่เราจะสามารถรับมือได้อย่างทันท่วงที
โรคภูมิแพ้คืออะไร
โรคภูมิแพ้คือภาวะความผิดปกติที่เกิดจากการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันที่ไว ต้องสิ่งกระตุ้น โดยอาการภูมิแพ้นี้จะเกิดขึ้นเมื่อร่างกายสัมผัสกับสสารบางชนิด ซึ่งสสารที่กระตุ้นให้เกิดอาการแพ้จะเรียกว่า สารก่อภูมิแพ้ และเมื่อร่างกายเกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้แล้วก็จะหลั่งสารฮีสตามีน (Histamine) ออกมา จนทำให้ร่างกายเกิดอาการต่าง ๆ เช่น อาการคัน ไอ มีเสมหะ หายใจไม่สะดวก ลมพิษ เป็นต้น
โรคภูมิแพ้ สาเหตุเกิดจากอะไร
โรคภูมิแพ้เกิดได้จาก 2 สาเหตุใหญ่ ๆ ได้แก่ กรรมพันธุ์ที่สืบทอดมาจากพ่อแม่ และสิ่งแวดล้อมรอบตัว
1. สาเหตุจากกรรมพันธุ์
โรคภูมิแพ้บางชนิดอาจเกิดขึ้นจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม ซึ่งถ้าหากมีการซักประวัติแล้วพบว่าพ่อและแม่ของผู้ป่วยมีอาการแพ้ก็จะยิ่งทำให้มีโอกาสในการเป็นโรคภูมิแพ้มากกว่าครอบครัวที่มีพ่อหรือแม่เป็นโรคภูมิแพ้เพียงคนเดียว ทั้งนี้โรคภูมิแพ้ที่มักเกิดจากกรรมพันธุ์ได้แก่ โรคหืด โรคแพ้อากาศ และผื่นภูมิแพ้ในเด็ก
2. สาเหตุจากสิ่งแวดล้อม
สิ่งแวดล้อมเป็นสาเหตุส่วนใที่ทำให้เกิดโรคภูมิแพ้ในคนส่วนใหญ่ ซึ่งสิ่งแวดล้อมนี้หมายถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่ร่างกายสามารถสัมผัสได้ ทั้งจากการหายใจ การทานอาหาร ซึ่งสารก่อภูมิแพ้ที่พบได้บ่อยที่สุดก็มีทั้งอาหาร เช่น อาหารทะเล ผลิตภัณฑ์นม ถั่วชนิดต่าง ๆ หรือโปรตีนบางชนิด นอกจากนี้สสารที่อยู่ในอากาศซึ่งเรามองไม่เห็นก็สามารถทำให้เกิดอาการแพ้ได้ เช่น ไรฝุ่น ฝุ่นละออง เชื้อราในอากาศ เกสรดอกไม้ และขนสัตว์ เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่สามารถกระตุ้นให้อาการภูมิแพ้เกิดได้ง่ายขึ้น เช่น สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อากาศที่เย็นจัด หรือมลพิษทางอากาศ อย่างเช่น ควันจากท่อไอเสียรถยนต์ ควันจากโรงงานอุตสาหกรรม หรือแม้แต่ควันบุหรี่ก็เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ได้เช่นกันค่ะ
โรคภูมิแพ้ อาการเป็นอย่างไร
อาการของโรคภูมิแพ้นั้นค่อนข้างจะเห็นได้ชัดเนื่องจากสารฮีสตามีนที่หลั่งออกมาเมื่อเกิดอาการแพ้จะไปทำปฏิกิริยากับเนื้อเยื่อต่าง ๆ ในร่างกาย โดยอาการของโรคภูมิแพ้สามารถแบ่งได้ตามชนิดของโรคดังนี้
โรคภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic dermatitis)
อาการของโรคนี้จะเกิดขึ้นในลักษณะของผิวหนังอักเสบโดยผู้ป่วยจะมีผิวแห้งหรือแห้งมาก และจะมีอาการคันเรื้อรัง ทั้งนี้หากมีอาการแพ้แบบเฉียบพลันก็จะมีรอยเห่อแดง และคัน อาจมีตุ่มน้ำใส ๆ เล็ก ๆ มีน้ำเหลืองซึมเยิ้มออกมาจากผิวตุ่มเหล่านั้น รวมทั้งอาจมีอาการติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนังร่วมด้วย นอกจากนี้ผู้ป่วยบางรายอาจมีผื่นแบบเรื้อรังเป็นปื้นนูน ผิวหนังเป็นขุยแห้งหรือตกสะเก็ดซึ่งเกิดจากการเกาด้วย
ตำแหน่งที่เกิดโรคภูมิแพ้ผิวหนังส่วนใหญ่แล้ว หากเป็นเด็กทารกจะพบที่บริเวณแก้ม ด้านนอกของแขนขา ข้อมือและข้อเท้า ส่วนในเด็กโตหรือผู้ใหญ่จะเกิดที่บริเวณข้อพับต่าง ๆ เช่น แขนและขาทั้ง 2 ข้าง หรือถ้าหากเป็นมากก็อาจจะลามไปทั่วร่างกายได้
โรคภูมิแพ้อากาศ หรือโรคภูมิแพ้จมูก (Atopic dermatitis)
โรคภูมิแพ้อากาศหรือโรคภูมิแพ้จมูก มีอีกชื่อหนึ่งว่า โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ เนื่องจากเป็นอาการที่เกิดขึ้นกับเยื่อบุจมูก ซึ่งเยื่อบุจมูกของผู้ป่วยจะไวต่อสิ่งเร้า อาทิ สภาพอากาศ ฝุ่นละออง ไรฝุ่น เกสรดอกไม้ เชื้อรา ขนสัตว์ หรือแม้แต่กลิ่น และสิ่งระคายเคืองต่าง ๆ โดยอาการที่สามารถสังเกตได้ก็คือ จะมีอาการจาม คัดจมูก น้ำมูกไหล คันจมูก มีเสมหะในลำคอ เลือดกำเดาไหลบ่อย นอกจากนี้ยังอาจมีอาการคันตา น้ำตาไหล คันหู และหูอื้อร่วมด้วย
โรคหืด (Asthma)
โรคหืด ถือเป็นโรคภูมิแพ้อีกชนิดหนึ่ง เพราะอาการของโรคนี้สารก่อภูมิแพ้จะก่อให้เกิดภาวะหลอดลมอักเสบอย่างเฉียบพลัน ส่งผลให้หลอดลมตีบตัน ซึ่งอาการมีหลายลักษณะ เช่น ไอ หอบไอ แน่นหน้าอก หายใจมีเสียงหวีด หายใจสั้นและลำบาก อาการเหล่านี้จะรุนแรงหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับสมรรถภาพของปอด ทั้งนี้หากไม่ได้รับยาอย่างทันท่วงทีก็อาจจะทำให้อาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ค่ะ
โรคภูมิแพ้ตัวเอง (SLE)
โรคภูมิแพ้ตัวเอง หรือที่รู้จักกันในนามโรคพุ่มพวง เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันที่โดยปกติจะทำหน้าที่ต่อต้านเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอม แต่โรคนี้ร่างกายจะหลั่งสารแอนติบอดีออกมาต่อต้านร่างกายเสียเอง ทำให้เกิดการอักเสบที่อวัยวะต่าง ๆ หากเป็นรุนแรงมากขึ้นก็จะทำลายอวัยวะภายในจนทำให้เสียชีวิตได้ ทั้งนี้โรคดังกล่าวยังไม่สามารถหาสาเหตุที่แน่ชัดได้
อาการที่พบได้บ่อยของผู้ป่วยโรคนี้ได้แก่ มีไข้ มีผื่นขึ้นที่ใบหน้าและตามร่างกาย เกิดแผลในปาก ผมร่วง ปวดข้อ อ่อนเพลีย ปัสสาวะเป็นฟอง คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร บางรายอาจมีอาการแทรกซ้อนอย่างเช่น ความดันโลหิตสูง ติดเชื้อง่าย เกล็ดเลือดต่ำ ปวดศีรษะอย่างรุนแรง แขนขาอ่อนแรง ปอดอักเสบ เยื่อหุ้มปอดอักเสบ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ไตอักเสบเรื้อรัง เป็นต้น
ทั้งนี้อาการของโรคภูมิแพ้ตัวเองนั้นจะไม่สามารรักษาให้หายได้ และทำได้เพียงควบคุมให้อาการสงบเท่านั้น
โรคภูมิแพ้ขึ้นตา (Eye Allergies)
อาการของโรคภูมิแพ้ขึ้นตามักจะเกิดขึ้นร่วมกับอาการแพ้อื่น ๆ อาทิ แพ้อากาศ หรือแพ้อาหาร สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกส่วนของดวงตา ไม่ว่าจะเปลือกตา หนังตา เยื่อบุตาขาว กระจกตา ท่อน้ำตาหรือต่อมน้ำตา ทั้งนี้อาการที่พบได้บ่อยได้แก่ คันตา ขี้ตาเยอะจนลืมตาไม่ขึ้น โดยขี้ตาจากอาการภูมิแพ้จะมีสีขาวขุ่น และเหลืองอ่อน ๆ แต่ถ้าหากมีภาวะติดเชื้อร่วมด้วยขี้ตาจะเป็นสีเขียว นอกจากนี้ยังมีอาการเยื่อบุตาแดง หรือมีอาการปวดตา หากอาการรุนแรงมาก ๆ อาจจะทำให้การมองเห็นแย่ลง เกิดกระจกตาเป็นแผล และถึงขั้นตาบอดได้
โรคภูมิแพ้อาหาร (Food Allergies)
โรคภูมิแพ้อาหารเป็นโรคที่พบเห็นได้บ่อย ซึ่งมีอาการหลาย ๆ อย่างร่วมกัน ได้แก่ อาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน ปวดท้องบิด มีผื่นขึ้นตามผิวหนัง ริมฝีปาก ลิ้นและช่องปากบวม หายใจลำบาก บางรายอาจรุนแรงถึงขั้นเกิดอาการช็อก ทั้งนี้อาการสามารถเกิดขึ้นได้อย่างเฉียบพลันหรือเกิดหลังจากรับประทานอาหารที่แพ้เข้าไปแล้วหลายชั่วโมงหรือเป็นวัน อาหารที่มักก่อให้เกิดอาการแพ้ ได้แก่ ไข่ นมวัว อาหารทะเล สารเคมีในอาหาร อาทิ สีผสมอาหาร สารกันบูด ผงชูรส และโปรตีนบางชนิด อย่างโปรตีนกลูเตน เป็นต้น
ภาวะภูมิแพ้อาหารแฝง (Food intolerance)
อาการของภาวะภูมิแพ้อาหารแฝงนั้นจะแตกต่างจากอาการแพ้ทั่วไปโดยสิ้นเชิง เพราะภูมิแพ้อาหารแฝงจะไม่แสดงอาการออกมาภายนอก แตกต่างจากการแพ้อาหารทั่วไปที่เมื่อร่างกายสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ ร่างกายก็จะสร้างภูมิต้านทานอิมมูโนโกลบูลินชนิดอี (Immunoglobulin e - Ige) และสารชนิดนี้จะเข้าไปกระตุ้นให้แมสต์เซลล์ (Mast Cell) ซึ่งเป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่งที่ทำหน้าที่ในการหลังสารอักเสบ และก่อให้เกิดอาการแพ้ในที่สุด
ทว่าภาวะภูมิแพ้อาหารแฝงนี้ ร่างกายจะสร้างสารภูมิต้านทานอิมมูโนโกลบูลินชนิดจี (Immunoglobulin g - Igg) แทน ซึ่งเจ้าสารชนิดนี้จะไม่ไปกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ที่ภายนอก และเมื่อสารเหล่านี้สะสมในร่างกายมากเกินความสามารถของเม็ดเลือดขาวที่จะกำจัดได้ก็จะทำให้เซลล์เหล่านี้ไปกระตุ้นการอักเสบต่าง ๆ จนกลายเป็นสาเหตุของโรคเรื้อรังโดยไม่รู้ตัว อาทิ โรคหวัดเรื้อรัง หูน้ำหนวกเรื้อรัง ไซนัสอักเสบเรื้องรัง ข้ออักเสบเรื้อรัง บางกรณีก็ก่อให้เกิดความผิดปกติทางอารมณ์ เช่น ภาวะซึมเศร้าเรื้อรัง เป็นต้น
วิธีรักษาโรคภูมิแพ้ ทำอย่างไร
วิธีรักษาโรคภูมิแพ้ที่ดีที่สุดก็คือการเลี่ยงจากสารก่อภูมิแพ้ โดยหากเกิดอาการแพ้ควรเลิกใช้หรือหยุดรับประทานสิ่งที่ทำให้แพ้โดยทันที และควรรับประทานยาแก้แพ้ ซึ่งยาเหล่านี้จะมีสารต้านฮีสตามีนช่วยบรรเทาอาการแพ้ได้ นอกจากนี้ยังมีการใช้สารสเตียรอยด์ เพื่อปรับปรุงระบบภูมิคุ้มกัน แต่ในรายที่มีอากาศแพ้ค่อนข้างรุนแรงก็อาจจะต้องได้รับการฉีดอะดรีนาลีนเพื่อบรรเทาอาการแทน
ทั้งนี้นอกจากการรักษาอาการที่เกิดขึ้นเฉียบพลันแล้วก็ยังมีวิธีการรักษาในระยะยาวเพื่อให้โรคภูมิแพ้หายได้สนิทอีกด้วย โดยวิธีการรักษาจะเริ่มจากการตรวจวินิจฉัย และเริ่มทดสอบว่าอะไรคือสาเหตุของการแพ้ หลังจากนั้นก็จะมีการบำบัดด้วยการค่อย ๆ ฉีดสารก่อภูมิแพ้นั้นเข้าไปในร่างกายทีละนิดเพื่อให้ร่างกายสร้างระบบภูมิคุ้มกันต่อสารดังกล่าว หรือบางรายก็อาจจะบำบัดด้วยการรับประทานยา วิธีการนี้ส่วนใหญ่แล้วจะสามารถรักษาให้หายขาดได้หากเป็นอาการแพ้ที่เกิดจากปัจจัยภายนอก แต่ถ้าหากเกิดจากกรรมพันธุ์ วิธีนี้อาจใช้ไม่ได้ผล เนื่องจากอาการที่เกิดจากสาเหตุนี้ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ และต้องอาศัยวิธีการรับประทานยาเพื่อควบคุมอาการให้สงบค่ะ
วิธีป้องกันโรคภูมิแพ้
วิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันโรคถูมิแพ้ก็คือการหลีกเลี่ยงและกำจัดสารก่อให้เกิดภูมิแพ้และสารที่จะก่อให้เกิดการระคายเคืองต่าง ๆ โดยหากเป็นโรคภูมิแพ้อาหาร ก็ควรจะหลีกเลี่ยงอาหารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ หรือถ้าหากมีอาการของภูมิแพ้ขึ้นจมูกบ่อย ๆ ก็ควรหมั่นดูแลทำความสะอาดบริเวณที่อาศัยอยู่ให้สะอาดอยู่เสมอ
นอกจากนี้ก็ยังมีการวิจัยพบว่านมแม่สามารถช่วยป้องกันการเกิดโรคภูมิแพ้ได้ เพราะในนมแม่จะไม่มีโปรตีนที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ จึงควรให้เด็กแรกเกิดดื่มนมแม่ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 6 เดือน เพื่อเป็นการสร้างภูมิต้านทานตั้งแต่ยังเด็ก ช่วยลดความเสี่ยงโรคภูมิแพ้ได้ค่ะ ไม่เพียงเท่านั้น การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างครบถ้วนก็จะช่วยลดการเกิดโรคภูมิแพ้ได้เช่นกัน
โรคภูมิแพ้ เป็นอาการที่อยู่ใกล้ตัวเรากว่าที่คิด อีกทั้งยังมีทั้งแบบที่แสดงอาการหรือเป็นภาวะแอบแฝง ทางที่ดีที่สุดสำหรับคนที่ไม่เคยมีประวัติการแพ้ก็ควรจะหมั่นสังเกตอาการของตัวเองอยู่เสมอ แต่ถ้าหากเป็นผู้เป็นโรคภูมิแพ้อยู่แล้ว ก็ควรดูแลตัวเอง และหลีกเลี่ยงจากสิ่งที่แพ้ให้ไกลที่สุด เพื่อที่อาการจะได้ไม่กำเริบค่ะ
|