นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดงาน

“ปั้นฝันด้วยพหุปัญญา พัฒนาทักษะอาชีพสู่ฐานอนาคตที่มั่นคง ระยะที่ 3”

เวลา 10.30 น. วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดโครงการปั้นฝันด้วยพหุปัญญา พัฒนาทักษะอาชีพสู่ฐานอนาคตที่มั่นคงระยะที่ 3 โดยมีนายยงยุทธ พรหมแก้ว ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาขอนแก่น เขต ๕ ผศ.ดร. นายเกรียงไกร วงศ์ปัญญาประเสริฐกุล ผู้บริหารวิทยาลัยเทคโนโลยีชุมแพไทย –เยอรมัน G-tech พร้อมด้วยผู้บริหารสำนักงานสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและวิทยาลัย ผู้บริหารสถานศึกษาในสังกัด สพป.ขอนแก่น เขต 5 ให้การต้อนรับ

โครงการดังกล่าวจัดทำขึ้นเพื่อเชื่อมโยงหลักสูตรด้านอาชีพกับหน่วยงานอาชีวศึกษา ส่งเสริมศักยภาพให้แก่ผู้เรียน (Upskill) และส่งเสริมให้เกิดทักษะใหม่ด้านอาชีพ (Reskill) เปิดโอกาสให้ให้ผู้เรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เรียนตามความถนัดและความสนใจสามารถนำทักษะการปฏิบัติ ฝากเป็นหน่วยกิตในสถาบันอาชีวศึกษาเพื่อเทียบโอนหน่วยกิตสะสมไว้ศึกษาต่อสายอาชีพได้ตามต้องการ ทั้งยังเป็นการพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้สายอาชีพและผลิตภัณฑ์นักธุรกิจน้อยเพื่อสร้างรายได้ระหว่างเรียน ผลจากการดำเนินโครงการพบว่ามีนักเรียนระดับมัธยมของโรงเรียนขยายโอกาสเข้าศึกษาต่อสายอาชีพเพิ่มขึ้น โดยในปี 2565 สพป.ขอนแก่น เขต 5 มีนักเรียนชั้น ม3 จำนวน 791 คน ศึกษาต่อสายอาชีพ 534 คน สายสามัญ 333 คน ปี 2566 ศึกษาต่อสายอาชีพ 452 คน สายสามัญ 280 คน ปี 2567 นักเรียนจากโรงเรียนขยายโอกาสสนใจเข้าร่วมโครงการในระยะ 3 เป็นจำนวนมาก สพป.ขอนแก่น เขต 5 และวิทยาลัยเทคโนโลยีชุมแพไทย-เยอรมัน (G-tech) คู่สัญญาความร่วมมือ จึงจัดโครงการสานฝันด้วยพหุปัญญาพัฒนาทักษะทักษะอาชีพ ระยะที่ 3

สอดคล้องกับนโยบายด้านการศึกษาของรัฐบาลที่จะปฏิรูปการศึกษาและสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต มุ่งให้ผู้เรียนเป็นคนดี มีวินัย ภูมิใจในชาติ รวมทั้งเสริมสร้างศักยภาพของผู้เรียนตามความถนัด ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้เข้าถึงการเรียนรู้อย่างทั่วถึง เพื่อต่อยอดให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. ได้มอบนโยบายการศึกษาที่มุ่งเน้นขับเคลื่อนนโยบาย เพื่อสร้างคุณภาพให้กับผู้เรียน และสร้างคุณภาพชีวิตให้แก่ครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยขับเคลื่อนนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ภายใต้แนวทาง จับมือไว้แล้วไปด้วยกัน ส่งเสริมการศึกษาเพื่อความเป็นเลิศและการศึกษาเพื่อความมั่นคง